ค่าใช้จ่ายต้องห้าม (บวกกลับ) ทางภาษี
อ่านแล้วบอกต่อ (ตอน 1)
รายจ่ายถูกบวกกลับ กันไว้ดีกว่าแก้
ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายไปไม่ว่าจะเป็นส่วนของการลงทุนหรือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ หากเป็นรายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ เช่น กรณีซื้อสินค้าจากร้านค้าย่อยที่ไม่มีใบเสร็จ หรือซื้ออาหารกล่องจากแม่ค้าในตลาดโดยแม่ค้าปฏิเสธไม่เซ็นรับเงินและไม่มอบสำเนาบัตรประชาชนให้ กรณีนี้ทำให้รายจ่ายเหล่านั้นถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามไม่ให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทจึงต้องบวกกลับในแบบฯ ภ.ง.ด.50 เพราะได้ลงเป็นรายจ่ายในการลงรายการทางบัญชีไปแล้ว ปัญหาคือมีรายจ่ายรายการใดบ้างที่ลงรายจ่ายทางบัญชีแล้ว ต้องบวกกลับในแบบฯ ภ.ง.ด.50 ในทางภาษีอีก
มาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดรายจ่ายที่ไม่ให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ต้องบวกกลับ) ไว้เป็นกรณีต่างๆ 20 กรณี ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4กลุ่มคือ
กลุ่มที่1 รายจ่ายที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน
กล่าวคือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน รายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน ซึ่งรายจ่ายในกลุ่มนี้เมื่อจ่ายไปแล้วจะได้มาซึ่งทรัพย์สิน เช่น ซื้อเครื่องจักร รถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือค่าจ้างก่อสร้าง หรือขยายอาคาร เป็นต้น เมื่อมีรายจ่ายประเภทนี้เกิดขึ้นจึงลงเป็นจ่ายจ่ายไม่ได้ แต่มีสิทธินำไปหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นรายจ่ายที่เป็นค่าซ่อมแซมทรัพย์สินให้คงสภาพเดิม กฎหมายยอมให้ถือเป็นรายจ่ายได้
กลุ่มที่2 รายจ่ายที่โดยสภาพกฎหมายกำหนดให้เป็นรายจ่ายที่ต้องบวกกลับอย่างชัดเจน
คือต้องบวกกลับไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ได้แก่ เงินสำรองเงินกองทุน (เช่น การตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานในอนาคต หรือการตั้งกองทุนสวัสดิการ แล้วนำมาลงเป็นรายจ่ายทางบัญชี) เบี้ยปรับและหรือ เงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา ภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระหรือพึงชำระและภาษีซื้อต้องห้ามบางกรณี การถอนเงินโดยปราศจากค่าตอบแทนของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควร ค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นเจ้าของและใช้เอง ดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ ค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่สูญหรือสิ้นไปเนื่องจากกิจการที่ทำ ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง
กลุ่มที่3 รายจ่ายที่กิจการสามารถวางแผนป้องกันไม่ให้เป็นรายจ่ายต้องห้ามที่ต้องบวกกลับ
ได้แก่ รายจ่ายส่วนตัว การให้โดยเสน่หา การกุศล รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และรายจ่ายซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ซึ่งรายจ่ายในกลุ่มนี้เองที่เป็นปัญหาและเป็นประเด็นให้ต้องบวกกลับเนื่องจากหลายๆสาเหตุ เช่น กรรมการผู้จัดการไปต่างประเทศโดยใช้ค่าใช้จ่ายของบริษัท แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าไปต่างประเทศเพื่อกิจการของบริษัทฯ หรือไม่ ก็ต้องถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม แต่ถ้าไปต่างประเทศโดยพิสูจน์ได้ว่าเพื่อเพื่อกิจการของบริษัทฯ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ก็สามารถลงเป็นรายจ่ายได้ จึงต้องมีเอกสารหลักฐานในการพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้ง
กลุ่มที่4 รายจ่ายที่บริษัทฯ จัดทำขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง และรายจ่ายจริงที่กำหนดจ่ายจากผลกำไร
ซึ่งรายจ่ายในกลุ่มนี้บริษัทฯเป็นผู้จัดทำขึ้นเอง จึงต้องยอมรับในการบวกกลับโดยไม่อาจปฏิเสธได้ เช่น บริษัทฯจ่ายค่านายหน้าให้นายก.แต่นาย ก.ผู้รับเงินไม่ยอมเซ็นรับเงินค่านายหน้าดังกล่าว (คือจะรับเงินอย่างเดียวแต่ไม่แสดงหลักฐานการรับเงิน) บริษัทฯ จึงต้องขอให้นาย ข.เป็นผู้เซ็นรับเงินโดยที่บริษัทฯ ไม่ได้จ่ายเงินให้นาย ข.แต่อย่างใด กรณีดังกล่าวเป็นรายการที่บริษัทฯ จัดทำขึ้นเอง (หลักฐานที่จ่ายเงินให้นาย ข.) โดยไม่มีการจ่ายเงินให้นาย ข.จริงจึงถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามต้องบวกกลับ
ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรายการที่เป็นรายจ่ายต้องห้าม (ตามกลุ่มที่ 3) รายการที่จ่ายไปจะสามารถลงเป็นรายจ่ายได้ จึงอาจพิจารณาตามประเด็นดังต่อไปนี้
1.ควรมีข้อผูกพันเป็นข้อพิสูจน์รายจ่าย
ถ้าไม่มีข้อผูกพันให้บริษัทฯ ต้องจ่าย รายจ่ายนั้นก็จะเป็นรายจ่ายต้องห้ามได้ ข้อผูกพันนั้นอาจเกิดจาก
**สัญญา ข้อตกลงที่มีเอกสารหลักฐานแสดงความผูกพัน
**ระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ เช่น ระเบียนสวัสดิการเพื่อให้สวัสดิการแก่พนักงาน เป็นต้น
**ข้อผูกพันตามกฎหมายที่ต้องจ่าย
**ข้อผูกพันตามประเพณีทางธุรกิจที่มักปฏิบัติ เช่น รายจ่ายส่งเสริมการขาย ซึ่งจ่ายตามแผนโครงการซึ่งผู้มีอำนาจของบริษัทฯ เป็นผู้อนุมัติ เป็นการส่งเสริมการขายโดยเปิดเผย ไม่เลือกปฏิบัติ ผู้ได้รับสิทธิจากการส่งเสริมการขายนั้นต้องเท่าเทียมกัน
**ข้อผูกพันจากการปฏิบัติงานของพนักงาน เช่น บริษัทฯ ส่งพนักงานไปปฏิบัติงาน มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ต้องแสดงข้อผูกพันที่พิสูจน์ได้ว่าพนักงานไปปฏิบัติงานและมีรายจ่ายจากการปฏิบัติงานนั้นๆ
รายจ่ายที่บริษัทฯ จ่ายไปโดยไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องจ่าย บริษัทฯ จะนำมาถือเป็นรายจ่ายทางภาษีไม่ได้ เช่น มอบเงินช่วยเหลือพนักงานที่คลอดบุตร 5,000 บาท โดยไม่มีระเบียบสวัสดิการ จึงไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องจ่าย มีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หา จึงลงรายจ่ายไม่ได้
2.รายจ่ายที่จ่ายไปโดยมีข้อผูกพันตามข้อ 1.บริษัทฯ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเพื่อประโยชน์แก่กิจการด้วย
เช่นบริษัทฯ จ้างพนักงานเป็นชาวต่างประเทศ ได้ทำสัญญาการทำงาน โดยบริษัทฯ จะจัดหาที่พักและรถยนต์ในระหว่างการทำงานในประเทศไทยให้พนักงานรายนั้น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่ารถยนต์ ที่ให้พนักงานตามสัญญาเป็นรายจ่ายที่จ่ายตามความผูกพันตามสัญญา และพนักงานได้มาทำงานเพื่อประโยชน์แก่กิจการของบริษัทฯ ย่อมนำมาถือเป็นรายจ่าย แต่หากแม้มีข้อผูกพันแต่ไม่ใช่เพื่อกิจการของบริษัทฯ ก็เป็นรายจ่ายต้องห้ามได้ เช่น บริษัทฯ ทำสัญญากับชุมชนว่าจะมอบรถให้ใช้ในกิจการของชุมชน แม้มีการทำสัญญาข้อตกลงเป็นสัญญาให้ที่บริษัทฯ ต้องปฏิบัติ แต่ไม่ใช่เพื่อกิจการของบริษัทฯ ก็ย่อมเป็นรายจ่ายต้องห้าม
3.แม้จะเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการแต่ก็ต้องเป็นรายจ่ายที่ไม่เกินสมควรแก่กิจการที่จะต้องจ่าย
เพราะถ้าจ่ายไปเกินสมควรอาจถูกเจ้าหน้าที่พนักงานประเมินตั้งข้อสังเกตได้ เช่นบริษัทฯ นำรถยนต์ไปซ่อม ค่าบริการที่อู่ซ่อมรถเรียกเก็บกับลูกค้าอื่นเป็นราคา 4,000 บาท แต่บริษัทฯ จ่ายให้ราคา 5,000 บาท เนื่องจากได้รับบริการที่ดี รายจ่ายส่วนที่เกิน จำนวน 1,000บาทนั้น แม้จะเป็นค่าซ่อมรถที่จ่ายไปจริงแต่ก็ไม่สามารถนำมาลงเป็นรายจ่ายทางภาษีได้
4.รายจ่ายที่จ่ายไปทุกกรณีต้องพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับโดยมีเอกสารหลักฐานยืนยัน
ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับก็ต้องถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม
บริษัทฯ ที่ลงรายจ่ายในทางบัญชีไปแล้ว จึงควรทบทวนตรวจสอบอีกครั้งว่ามีรายการที่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรีฯ ที่ต้องบวกกลับหรือไม่ แต่หากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาที่จะตามมาภายหลัง ป้องกันการเกิดรายจ่ายต้องห้ามตั้งแต่ต้น ก็จะตัดปัญหาที่อาจบานปลายเป็นภาระเสียทั้งเงินทั้งเวลาไปได้
ขอบคุณ วารสาร สรรพากรสาส์น