จดทะเบียนพาณิชย์

จดทะเบียนพาณิชย์(Commercial Registration Service)

จดทะเบียนพาณิชย์ (ร้านค้า/บุคคลธรรมดา)ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499

ผู้มีหน้าที่ จดทะเบียนพาณิชย์

  1. บุคคลธรรมดาคนเดียว (กิจการเจ้าของคนเดียว)
  2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ
  3. นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย
  4. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด
  5. บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด

จดทะเบียนพาณิชย์

ช่วงนี้ ร้านค้าออนไลน์เปิดใหม่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลากหลายช่องทาง เช่นทางเว็บไซต์ตัวเอง เว็บไซต์ e-commerce และล่าสุดคือทาง Social Network อย่าง facebook และ Instagram ซึ่งเป็นช่องทางที่นิยมอย่างมาก แต่ปัญหา คือการหลอกลวงก็มีเยอะ ทำให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกมาคุมเข้มร้านค้าออนไลน์ โดยให้ร้านค้าแจ้งให้ไปจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างถูกกฏหมาย ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ประกอบธุรกิจ ซึ่งเรื่องนี้หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ สถิติตัวเลขผู้ขายออนไลน์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า มีผู้ขายออนไลน์ในไทยสูงถึง 1 ล้าน 5 พันราย แต่ตัวเลขการจดทะเบียนพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ มีเพียงแค่ 13,000 รายเท่านั้น คุณวิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ให้ข้อมูลว่า การที่บังคับให้ร้านค้าออนไลน์มาลงทะเบียนนี้ ก็เป็นการบังคับใช้กฏหมาย พ.ร.บ. ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 เพื่อให้สามารถระบุตัวตนของผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ได้อย่างชัดเจน และเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า เนื่องจากในปัจจุบัน การถูกโกง ถูกหลอกลวงจากการค้าออนไลน์เกิดขึ้นบ่อยๆ “ต่อไปถ้าไม่จดทะเบียนให้ถูกต้อง จะถือเป็นคนขายสินค้าเถื่อน เป็นเว็บไซต์เถื่อน ไม่น่าเชื่อถือ เพราะระบุตัวตนไม่ได้ ผู้บริโภคก็ไม่ควรให้ความ เชื่อถือในการเข้าไปเลือกซื้อสินค้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ และถูกโกง เพราะไม่มีหลักประกันอันใดในการพิสูจน์ว่า คนขายตั้งใจทำธุรกิจออนไลน์จริง แต่ถ้ามาจดทะเบียนอย่างถูกต้องจะถือเป็นผู้ที่มีความตั้งใจที่จะทำธุรกิจ และผู้บริโภคเชื่อถือได้” คุณวิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าว “สำหรับผู้ขายออนไลน์ ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ทั้งคนที่มีเวปไซต์เปิดเป็นร้านค้าของตัวเอง รวมถึงคนที่เปิดร้านขายเป็นจริงเป็นจัง รวมถึงร้านขายบน Social Network เช่น facebook, Instagram ต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์ และนำเลขทะเบียนแสดงบนหน้าร้านค้าออนไลน์ด้วย”

เอกสารที่ใช้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้ 

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบพาณิชยกิจ
  2. แบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.)
  3. รายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ (เอกสารแนบ แบบ ทพ.) กรอก 1 ใบ ต่อ 1 เว็บไซต์
  4. เอกสารการจดโดเมนเนม (กรณีที่มีเว็บไซต์ และชื่อผู้จดทะเบียนโดเมนเนม ต้องเป็นชื่อผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์)
  5. Print หน้าแรกของเว็บไซต์ , สินค้า/บริการที่ประกอบพาณิชยกิจ และวิธีการสั่งซื้อสินค้า/บริการ วิธีการชำระเงิน วิธีการส่งสินค้า
  6. แผนที่ตั้งการประกอบพาณิชยกิจ
  7. หนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (กรณีจดในนามนิติบุคคล)
  8. หนังสือมอบอำนาจ พร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ)

กรณีผู้ประกอบพาณิชย์กิจมิได้เจ้าบ้าน      

  1. หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ หรือ สัญญาเช่า
  2. สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของสถานที่ พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน หรือ เอกสารสิทธิ์ที่แสดงว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

กรณีนิติบุคคลต่างประเทศ เข้ามาตั้งสาขาดำเนินกิจการในประเทศไทย ให้แนบเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้    

  1. สำเนาเอกสารแสดงการจดทะเบียนนิติบุคคล
  2. หนังสือแต่งตั้งผู้ดำเนินกิจการในประเทศไทย
    • ใบอนุญาตทำงาน (กรณีผู้ดำเนินกิจการเป็นคนต่างด้าว)
    • ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือหนังสือรับรองการใช้สิทธิ (ถ้ามี)

แล้วไปจดทะเบียนพาณิชยอิเล็กทรอนิกส์ ได้ ตามสถานที่ดังนี้          

สำนักงานแห่งใหญ่ของสถานประกอบการตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ยื่นที่ สำนักงานเขตที่สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ สำนักงานแห่งใหญ่ของสถานประกอบการตั้งอยู่ในต่างจังหวัด ให้ยื่นที่ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์เมืองพัทยา เทศบาล หรือ องค์การบริการส่วนตำบลที่สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ ถ้าสำนักงานแห่งใหญ่ของผู้ประกอบพาณิชยกิจตั้งอยู่ในต่างประเทศ และมาตั้งสำนักงานสาขาเพื่อประกอบพาณิชยกิจในประเทศไทย สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งในเขตท้องที่รับผิดชอบของสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ใดก็ให้จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนฯในเขตท้องที่นั้น

ทั้งนี้มีข้อกำหนดการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ  

  1. การยื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ 1 คำขอต่อ 1 เว็บไซต์ หรือ ร้านค้าออนไลน์
  2. ต้องมีร้านค้าออนไลน์แล้ว โดยมิใช่มีแต่ชื่อเว็บไซต์ หรือ ชื่อร้านค้า
  3. เป็นร้านค้าหรือประกอบพาณิชยกิจพาณิชยอิเล็กทรอนิกส์ 4 ประเภทตามที่กฎหมายกำหนด
  4. ไม่ใช่เว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือให้ข้อมูลเท่านั้น โดยไม่สามารถซื้อขายผ่านทางเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์นั้น ๆ
  5. การซื้อขายสินค้า/บริการผ่านทางเว็บไซต์หรือ Social Media เช่น Facebook ที่เป็นการทำการค้าโดยปกติ ถือเป็นการซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ และนำเลขทะเบียนแสดงบนหน้าร้านค้าออนไลน์
  6. กรมฯ จะอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง DBD Registered เฉพาะร้านค้าออนไลน์ที่เป็นเว็บไซต์และมีโดเมนเนมเป็นของตนเอง ไม่รวมสื่อออนไลน์อื่น เมื่อจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เรียบร้อยแล้ว กรณีเป็นเวปไซต์ ก็จะได้รับสัญลักษณ์ยืนยัน DBD register และ DBD verify มาแปะที่หน้าเว็บ ทำให้เว็บดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ทั้งนี้สำหรับผู้ซื้อ ก็สามารถสังเกตที่สัญลักษณ์  DBD register และ DBD verify ก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นว่า เว็บนี้ไม่ถูกหลอกแน่ บุคคลธรรมดา (กิจการเจ้าของคนเดียว) ห้างหุ้นส่วนสามัญ และนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย

ซึ่งประกอบกิจการดังต่อไปนี้ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์

  1. ผู้ประกอบกิจการโรงสีข้าวและโรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร
  2. ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าไม่ว่าอย่างใดๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่าง คิดรวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งขายได้เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือมีสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อขายมีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
  3. นายหน้าหรือตัวแทนค้าต่างซึ่งทำการเกี่ยวกับสินค้าไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และสินค้านั้นมีค่ารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป
  4. ผู้ประกอบกิจการหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และขายสินค้าที่ผลิตได้ คิดราคารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปหรือในวันหนึ่งวันใดมีสินค้าที่ผลิตได้มีราคารวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
  5. ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางทะเล การขนส่งโดยเรือกลไฟหรือเรือยนต์ประจำทาง การขนส่งโดยรถไฟ การขนส่งโดยรถราง การขนส่งโดยรถยนต์ประจำทาง การขายทอดตลาด การรับซื้อขายที่ดิน การให้กู้ยืมเงิน การรับแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศการซื้อหรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การโพยก๊วน การทำโรงรับ จำนำ และการทำโรงแรม
  6. ขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดีทัศน์ แผ่นวีดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดีทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
  7. ขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี
  8. ซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  9. บริการอินเทอร์เน็ต
  10. ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
  11. บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  12. การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต
  13. การให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
  14. การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
  15. การให้บริการตู้เพลง
  16. โรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีก การค้าส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง

พาณิชยกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ได้แก่             

  1. การค้าเร่ การค้าแผงลอย
  2. พาณิชยกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล
  3. พาณิชยกิจของนิติบุคคลซึ่งได้มีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
  4. พาณิชยกิจของกระทรวง ทบวง กรม
  5. พาณิชยกิจของมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์
  6. พาณิชยกิจของกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตาม ปว.141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2515

กำหนดระยะเวลาการจดทะเบียนพาณิชย์   

  1. จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ ต้องจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มประกอบพาณิชยกิจ
  2. การเปลี่ยนแปลงรายการที่จดทะเบียนไว้ตาม (1) ต้องจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
  3. เลิกประกอบพาณิชยกิจ ต้องจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่เลิกประกอบพาณิชยกิจ
  4. ใบทะเบียนพาณิชย์สูญหายต้องยื่นขอใบแทนภายใน 30 วันนับแต่วันสูญหาย

หน้าที่ของผู้ประกอบพาณิชย์กิจ     

  1. ต้องขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามแต่กรณี
  2. ต้องแสดงใบทะเบียนพาณิชย์หรือใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ ณ สำนักงานในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย
  3. ต้องจัดให้มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจไว้หน้าสำนักงานแห่งใหญ่และสำนักงานสาขาโดย เปิดเผยภายในเวลา 30 วัน นับแต่  วันที่จดทะเบียนพาณิชย์ ป้ายชื่อให้เขียนเป็นอักษรไทย อ่านง่ายและชัดเจน จะมีอักษร ต่างประเทศในป้ายชื่อด้วยก็ได้ และจะต้องตรงกับชื่อที่จดทะเบียนไว้ หากเป็นสำนักงานสาขาจะต้องมีคำว่า “สาขา” ไว้ด้วย
  4. ต้องไปให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการจดทะเบียนตามคำสั่งของนายทะเบียน
  5. ต้องอำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเข้าทำการตรวจสอบในสำนักงานของผู้ประกอบกิจการ

คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.) คลิกเพื่อดาวน์โหลด

เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (เอกสารแนบแบบ ทพ.) คลิกเพื่อดาวน์โหลด