มีเรื่องมาบอก….ภาษีซื้อต่างสถานประกอบการ นำไปหักภาษีขายได้ แน่นอนค่ะ
การซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับริการจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าหรือบริการนั้นๆ และหากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกันแล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บนั้นถือเป็น “ภาษีซื้อ” ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามมาตรา 77/1 (18) และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ขายสินค้าหรือให้บริการจะต้องออกหลักฐานคือ ใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ซื้อสินค้าฯ หากเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีซื้อนั้นไม่ใช่ภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5ฯ ผู้ประกอบการผู้ซื้อสินค้าฯ ย่อมมีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนที่ระบุในใบกำกับภาษี หากได้รับใบกำกับภาษีล่าช้าภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากเดือนที่ระบุใบกำกับภาษี ก็ยังมีสิทธิสามารถนำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายของเดือนที่ได้รับใบกำกับภาษี แต่จะต้องระบุข้อความว่า “ถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษี… (เดือนที่ได้รับใบกำกับภาษี)” ในใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าว ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 4ฯ)
การนำภาษีซื้อไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ซื้อสินค้าฯ มีสถานประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงแห่งเดียว การนำภาษีซื้อไปหักออกจากภาษีขายก็คงไม่เป็นปัญหา แต่หากผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ซื้อสินค้าฯมีสถานประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหลายแห่ง ปัญหาที่ตามมาก็คือภาษีที่ระบุในใบกำกับภาษีแต่ละใบจะนำไปใช้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการใด หากพิจารณาตามมาตรา 82/4 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บเนื่องจากการซื้อสินค้าหรือบริการมาเพื่อใช้ประกอบกิจการของตน ย่อมเป็นภาษีซื้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการนั้น” แล้วจะเห็นได้ว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บถือเป็นภาษีซื้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นโดยไม่ได้มีข้อกำหนดว่าจะต้องนำภาษีซื้อไปใช้ ณ สถานประกอบการใด ดังนั้น ถ้าหากผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ซื้อสินค้าฯ มีสถานประกอบการหลายแห่ง การนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ได้รับไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจึงควรจะสัมพันธ์กับใบกำกับภาษีซื้อที่เป็นหลักฐานในการนำไปหักออกจากภาษีขาย กล่าวคือ ถ้าใบกำกับภาษีซื้อที่ได้รับระบุชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเป็นสถานประกอบการแห่งใดสถานประกอบการแห่งนั้นย่อมนำใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้สถานประกอบการแห่งนั้นอาจจะไม่ได้เป็นผู้ใช้สินค้าหรือบริการนั้น แต่สินค้าหรือบริการนั้นได้นำไปใช้ในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการโดยตรงซึ่งอาจจะใช้รวมกันหรือใช้ที่สถานประกอบการอื่นก็ได้
ตัวอย่าง บริษัท ดีต่อเนื่อง จำกัด มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ มีโรงงานผลิตสินค้าอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานใหญ่เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าและวัตถุดิบ และเป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้ขาย โดยผู้ขายสินค้าได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทดีต่อเนื่อง โดยระบุชื่อ ที่อยู่ ของสำนักงานใหญ่ผู้ซื้อสินค้า ส่วนสินค้าและวัตถุดิบตามที่บริษัทดีต่อเนื่อง ได้สั่งซื้อนั้น ผู้ขายได้นำไปส่งมอบและมีการรับมอบที่โรงงานผลิตที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ใช้สินค้าและวัตถุดิบนั้น กรณีดังกล่าว บริษัทดีต่อเนื่อง ต้องนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยนำไปหักออกจากภาษีขายในการยื่นแบบแสดงรายการ (ภ.พ.30) ของสำนักงานใหญ่ ไม่ใช่ของโรงงานผลิตสินค้า
อย่างไรก็ดี ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนรายใดได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) รวมกัน ณ สถานประกอบการแห่งหนึ่งแห่งใดแล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นจะต้องนำเอาภาษีขายและภาษีซื้อของทุกสถานประกอบการไปยื่นรวมกัน ณ สถานประกอบการที่ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบรวมกันดังกล่าว ส่วนใบกำกับภาษีซื้อที่เป็นของสถานประกอบการใดก็นำไปลงรายการภาษีซื้อของสถานประกอบการนั้น และเก็บรักษาเอกสารดังกล่าวไว้ ณ สถานประกอบการแห่งนั้น เพื่อเป็นหลักฐานหากจะต้องมีการเรียกตรวจสอบในภายหลังต่อไป
ขอขอบคุณ
บทความอ้างอิงจากเอกสาร สรรพากรสาสน์
ถ้าคุณมีคำถาม หรือสงสัยเรื่องภาษี ปิติภูมิ การบัญชี ยินดีให้คำปรึกษา รับทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี ยื่นภาษี ครบวงจร