ภาษีซื้อต้องห้าม นำมาใช้ขอคืนได้หรือไม่?
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนฯ ที่ขายสินค้าหรือให้บริการเรียกเก็บถือเป็น “ภาษีซื้อ” ของผู้ประกอบการฯ ที่ขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งมีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขาย ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าภาษีซื้อดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)ฯ และประกาศอธิบดี เกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ที่ได้รับใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งภาษีซื้อต้องห้ามตามกฎหมายที่กล่าวถึงในกรณีนี้มีข้อพิจารณาดังนี้
1.เงื่อนไขเกี่ยวกับใบกำกับภาษี
ภาษีซื้อ ตามใบกำกับภาษีที่จะนำมาหักออกจาก ภาษีขาย ได้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ต้องเป็น ภาษีซื้อ ตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ถ้าได้รับใบกำกับภาษีอย่างย่อย่อมไม่มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายได้ แต่หากเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปดังกล่าวมีลักษณะดังต่อไปนี้ก็ถือเป็น ภาษีซื้อต้องห้าม เช่นเดียวกัน
(1) ใบกำกับภาษีเป็นชื่อบุคคลอื่น
(2) รายการของใบกำกับภาษีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง
(3) รายการของใบกำกับภาษีมีการแก้ไข
(4) ไม่ใช่ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ
(5) หน่วยเงินตราไมใช่เงินบาท
(6) วิธีการจัดทำใบกำกับภาษีไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด (กรณีรายการของใบกกับภาษีได้แก่ (1) รายการคำว่า “ใบกำกับภาษี” และ (2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวของผู้ออกใบกำกับภาษี ได้ตีพิมพ์จากโรงพิมพ์ทั้ง 2 รายการ รายการอื่นจะจัดทำโดยวิธีการเขียน พิมพ์ หรือจัดทำด้วยวิธีอื่นก็ได้ แต่ทั้ง 2 รายการไม่ได้ตีพิมพ์จากโรงพิมพ์ หรือตีพิมพ์จากโรงพิมพ์เพียงรายการเดียว รายการอื่นที่ไม่ได้ตีพิมพ์จากโรงพิมพ์ต้องออกด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมดเว้นแต่รายการที่มีกฎหมายกำหนดวิธีการจัดทำไว้โดยเฉพาะ ซึ่งเรียกว่าการจัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ)
(7) รายการใบกำกับภาษีที่เป็นสำเนา เว้นแต่กรณีจัดทำใบกำกับภาษีรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น และใบกำกับภาษีรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น และใบกำกับภาษีเป็นสำเนาโดยมีคำว่า “เอกสารออกเป็นชุด”
2.เงื่อนไขที่ไม่เกี่ยวกับใบกำกับภาษี
แม้ผู้ประกอบการฯ จะได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ไม่เข้าลักษณะภาษีซื้อตามข้อ 1 แล้วก็ตามแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวจะใช้ได้เสมอไป เพราะยังมีเงื่อนไขที่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามโดยไม่เกี่ยวกับเงื่อนไขของใบกำกับภาษีที่อาจเป็นภาษีซื้อต้องห้ามได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เป็นภาษีซื้อเกี่ยวกับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง
(2) เป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่นำมาใช้ในกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(3) เป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์ที่นำไปใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วต่อมาได้ขายอาคารดังกล่าว หรือนำอาคารดังกล่าวไปให้เช่า หรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 3 ปีนับแต่เดือนที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์
(4) เป็นภาษีซื้ออันเกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรอง
(5) เป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อรถยนต์ที่มิใช่รถยนต์และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แต่ต่อมาได้ดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวให้เป็นรถนั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งเกิน 10 คน ภายใน 3 ปี
หากผู้ประกอบการฯ นำภาษีซื้อต้องห้ามมาหักออกจากภาษีขาย ผลที่ตามมาก็คือเดือนภาษีนั้นจะเป็นการยื่นภาษีไว้เกินไปและอาจเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้คลาดเคลื่อนได้ถ้าเดือนภาษีนั้นมีภาษีขาย ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของภาษีซื้อที่ยื่นไว้เกิน และเสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของภาษีที่คลาดเคลื่อน นอกจากนั้นยังต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน
ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ หากผู้ประกอบการฯ นำภาษีซื้อต้องห้ามมาใช้แล้วจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ไม่ต้องรับผิดชอบ ปัญหาดังกล่าวมีวิธีพิจารณาได้ 2 กรณีคือ
กรณีที่ 1 เป็นภาษีซื้อต้องห้ามเพราะเงื่อนไขเกี่ยวกับใบกำกับภาษี
กรณีนี้ผู้ประกอบการฯ ที่ได้รับใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าว จะต้องร้องขอให้ผู้ประกอบการฯ ที่ขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งได้ออกใบกำกับภาษีไปแล้ว ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับดังกล่าวและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมให้ถูกต้องตามแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากร ที่ป.86/2542ฯ ก็จะมีผลให้ผู้ประกอบการฯ นั้นได้ใช้ภาษีซื้ออย่างถูกต้องโดยไม่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
กรณีที่ 2 เป็นภาษีซื้อต้องห้ามที่ไม่เกี่ยวกับเงื่อนไขของใบกำกับภาษี กรณีนี้ถือว่าเป็นการยื่นภาษีไว้เกินไปจึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ ถ้าผู้ประกอบการจดะเบียนฯ ได้รับใบกำกับภาษีซื้อต้องห้ามตามกรณีที่ 1 (โดยไม่สามารถขอใบกำกับภาษีฉบับใหม่จากผู้ออกได้) หรือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามกรณีที่ 2 และได้นำภาษีซื้อต้องห้ามาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ฉบับที่ยื่นปกติแล้ว และปรากฏว่าเดือนภาษีนั้นมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย โดยภาษีเกิดจากการนำภาษีซื้อต้องห้ามมาใช้ และผู้ประกอบการจดทะเบียนฯ ได้ขอคืนภาษีเป็นเงินสด กรณีนี้ผู้ประกอบการจดทะเบียนฯ จะได้รับคืนภาษีหรือไม่ คำตอบก็คือย่อมไม่ได้รับเงินภาษีอย่างแน่นอนเนื่องจากเป็นการขอคืนจากการนำภาษีซื้อต้องห้ามมาใช้ในการคำนวณ และกรณีนี้ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วย
ขอขอบคุณ
บทความอ้างอิงจากเอกสาร สรรพากรสาสน์