รู้ยัง ลืมเครดิตพันยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ขอคืนได้
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อเป็นรายเดือนภาษี ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรหากเดือนภาษีใดมีผลการคำนวณภาษีเป็นลบ (ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย) ก็จะมีเครดิตภาษีเหลืออยู่ของเดือนภาษีนั้นๆผู้ประกอบการฯ ย่อมมีสิทธิที่จะนำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่นั้นไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดจากเดือนที่คำนวณภาษีนั้น และหากในเดือนภาษีที่นำเครดิตภาษีไปชำระยังมีเครดิตภาษีเหลืออยู่อีก ก็ให้มีสิทธินำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป (มาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 242) พ.ศ. 2534 อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการไม่ประสงค์จะนำเครดิตที่เหลืออยู่ไปชำระภาษีของเดือนถัดไป ก็ย่อมมีสิทธิขอคืนพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.พ. 30 ของเดือนภาษีนั้นได้ตามาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร
ตัวอย่างที่ 1 บริษัท สบายดี จำกัด คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนมีนาคม 2556 ปรากฏว่าภาษีขายจำนวน 30,000 บาท ภาษีซื้อจำนวน 60,000 บาท เท่ากับภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายจำนวน 30,000 บาท ถือเป็นเครดิตที่เหลืออยู่ บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิจะยกเครดิตจำนวน 30,000 บาทดังกล่าวไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนเมษายน 2556 ได้
หากในเดือนเมษายน 2556 บริษัทฯ มีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายอีก 20,000 บาท ถือเป็นเครดิตที่เหลืออยู่ที่บริษัทฯ สามารถใช้สิทธินำไปรวมกับเครดิตภาษีของเดือนมีนาคมและนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนพฤษภาคม 2556 ได้เป็นจำนวน 50,000 บาท
ต่อมาในเดือนพฤษภาคม บริษัทฯ มีภาษีขายจำนวน 50,000 บาท ภาษีซื้อ 20,000 บาท เท่ากับภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อจำนวน 30,000 บาท ทำให้ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 30,000 บาท แต่เนื่องจากมีเครดิตที่พันยอดที่เหลืออยู่ยกมาจากเดือนเมษายน จำนวน 50,000 บาท บริษัทฯ จึงไม่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสด แต่นำเครดิตภาษีพันยอดที่ยกมาคงเหลืออยู่อีกจำนวน 20,000 บาท ที่มีสิทธิยกไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนมิถุนายน 2556 ได้
ปัญหาที่พบได้บ่อยจากการนำเครดิตพันยอดไปใช้ในเดือนถัดๆ ไปมีหลายประเด็น แต่ที่สำคัญมีสองประเด็นที่จะกล่าวถึงดังนี้
1.ลงลายมือชื่อขอคืนเป็นเงินสด ผู้ประกอบการฯ มีเครดิตภาษีพันยอดที่มีสิทธิยกไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไปได้ แต่ไปลงลายมือชื่อขอคืนเป็นเงินสดในแบบ ภ.พ. 30 (ช่องขอคืนภาษี) ในเดือนภาษีที่มีเครดิตภาษี แต่เข้าใจว่าตนเองมีเครดิตพันยอดอยู่จึงนำไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนถัดไปทำให้เสียภาษีไม่ถูกต้อง อันอาจทำให้ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามกฎหมายได้
ตัวอย่างที่ 2 บริษัท สบายใจ จำกัด คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนมีนาคม 2556 มีเครดิตพันยอดที่มีสิทธิยกไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนถัดไปจำนวน 20,000 บาท แต่ได้ลงรายมือชื่อขอคืนเงินเป็นเงินสดในการยื่นแบบ ภ.พ. 30 ของเดือนมีนาคม และในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนเมษายนปรากฏว่าบริษัทฯมีภาษีขายจำนวน 40,000 บาท ภาษีซื้อจำนวน 20,000 บาท จึงมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ 20,000 บาท ซึ่งต้องชำระเป็นเงินสด แต่บริษัทฯเข้าใจว่าเดือนมีนาคมไม่ได้ขอคืนเป็นเงินสดจึงนำเครดิตพันยอดของเดือนมีนาคมที่เข้าใจผิดว่ามีสิทธินำมาหักได้ไปหักออกจากภาษีที่ต้องชำระ ทำให้บริษัทฯ ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนเมษายนเพียง 0 บาท (20,000 – 20,000 บาท) มีผลให้บริษัทฯ เสียภาษีขาดไป 20,000 บาท และต้องรับผิดในตัวภาษีที่ชำระไว้ขาดไปดังกล่าวและต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ชำระขาดนั้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการฯ ที่มีเครดิตพันยอดยกมาต่อกันเรื่อยๆ และประสงค์จะใช้เครดิตภาษีเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป ต้องระวังการลงรายมือชื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสดที่ปรากฏในแบบ ภ.พ. 30 ที่ยื่นในเดือนนั้นๆ ด้วย
2.ไม่นำเครดิตพันยอดไปชำระภาษีในเดือนถัดไป ผู้ประกอบการฯ ที่มีเครดิตพันยอดยกมาของเดือนภาษีใด แต่ไม่ได้นำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนถัดไป (ไม่ได้ยกไปกรอกในแบบ ภ.พ. 30 ของเดือนถัดไป) ไม่ว่าจะหลงลืมด้วยเหตุใดก็ตาม ผลที่ตามมาก็คือผู้ประกอบการฯ นั้นๆ จะไม่สามารถใช้เครดิตภาษีพันยอดได้อีกต่อไป และไม่สามารถยกเครดิตพันยอดนั้นข้ามเดือนไปใช้ในเดือนหลังจากเดือนถัดไปได้ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างที่ 3 บริษัท สมใจ จำกัด มีเครดิตพันยอดจากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนมีนาคม 2556 จำนวน 50,000 บาท ซึ่งมีสิทธิยกไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนเมษายน 2556 ได้ แต่ปรากฏว่าในการยื่นแบบ ภ.พ. 30 ของเดือนเมษายน บริษัทฯ ลืมนำเครดิตพันยอดดังกล่าวมาใช้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงหมดสิทธินำเครดิตพันยอดมาใช้ในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนถัดไปได้ และไม่สามารถนำเครดิตภาษีของเดือนมีนาคมข้ามไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนพฤษภาคม 2556 ได้
จากข้อผิดพลาดดังกล่าวซึ่งมีผลทำให้ไม่สามารถนำเครดิตภาษีพันยอดไปใช้ได้ดังกล่าวจึงมีคำถามว่าแล้วจะแก้ไขข้อผิดพลาดนี้ได้หรือไม่จะยื่นแบบ ภ.พ. 30 เพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงแบบของเดือนถัดไปได้หรือไม่ หรือจะมีแนวทางปฏิบัติอื่นอย่างไรหรือไม่…
คำตอบก็คือกรณีดังกล่าวจะยื่นแบบ ภ.พ. 30 เพิ่มเติมไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยื่นภาษีขายไว้ขาดไปหรือยื่นภาษีซื้อไว้เกินไป ทางปฏิบัติเดียวที่จะทำได้คือต้องยื่นคำร้องขอคืนเครดิตพันยอดที่ไม่ได้ยกไปใช้ในเดือนถัดไปโดยขอคืนเป็นเงินสดด้วยแบบคำร้องขอคืน ค. 10 และเป็นการขอคืนภาษีของเดือนที่มีเครดิตพันยอดเหลืออยู่และไม่ได้ยกไปใช้ในเดือนถัดไป โดยจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดยื่นแบบ ภ.พ. 30 ของเดือนดังกล่าวตามมาตรา 84/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ตัวอย่างที่ 4 จากกรณีบริษัท สมใจ จำกัด จะขอคืนเครดิตภาษีพันยอดที่ไม่ได้ยกไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนถัดไปจะต้องยื่นคำร้องขอคืนตามแบบ ค. 10 ของเดือนมีนาคม 2556 ขอคืนภาษีจำนวน 50,000 บาท (ไม่ใช่ขอคืนภาษีของเดือนเมษายน 2556) ทั้งนี้ มีแนวคำวินิจฉัยของกรมสรรพากร ที่ กค 0811 (กม)/พ. 2040 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งวินิจฉัยกรณีดังกล่าวไว้ดังนี้
บริษัทฯ ไม่ใช้สิทธินำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ในเดือนมกราคม 2538 จำนวน 852,319.71 บาท ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไปคือเดือนกุมภาพันธ์ 2538 บริษัทฯ จึงต้องยื่นคำร้อง ค. 10 ขอคืนภาษีจำนวนดังกล่าวภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น ซึ่งก็คือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2541 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ยื่นคำร้องขอคืนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2541 จึงพ้นกำหนด 3 ปี ตามมาตรา 84/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ขอขอบคุณ
บทความอ้างอิงจากเอกสาร สรรพากรสาสน์
ดังกล่าวเรื่องภาษีเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับผู้ประกอบการป้ายแดง เราในนาม ปิติภูมิการบัญชี ช่วยคุณได้ ด้วยทีมงานคุณภาพที่มีความพร้อมให้บริการ ในการยื่นแบบภาษีออนไลน์ ได้อย่างถูกต้องทันเวลา ไม่โดนค่าปรับ
สนใจติดต่อเรา โทร.0858012332 คุณวิ หรือ 0645869496 คุณปราย